New Around the World
 
BACK
  ไทยฮอตไลน์ สายด่วนชาวเน็ต พัฒนาสังคมออนไลน์ที่ดี

Date : 2008-11-03 Time : 08:42:59
ไทยฮอตไลน์ สายด่วนชาวเน็ต พัฒนาสังคมออนไลน์ที่ดี [3 พ.ย. 51 - 06:51]

ขณะ นี้ การใช้สื่ออินเทอร์เน็ตได้ถูกทุกภาคส่วนของสังคม นำไปใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา การเรียนรู้ การค้า และ อุตสาหกรรม และเป็นแหล่งทางเลือกในการแพร่ข่าวด่วนสู่ประชาชน ขณะเดียวกัน การกระทำผิดกฎหมายทางอินเทอร์เน็ต ก็มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งที่มีต้นตอในประเทศไทย หรือ มาจากต่างประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมไทย ยิ่งไปกว่านั้น สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์ บ่อยครั้งได้กลายเป็นผู้ขยายผลร้ายที่กระทบกับผู้เสียหาย ทุกครั้งที่มีการออกข่าวเกี่ยวกับปัญหาบนโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้น อาทิ คลิปวิดีโอดาราชื่อดัง ภาพแอบถ่าย หรือ การโพสต์ข้อความบนเว็บบอร์ด หรือการเผยแพร่ข้อความที่เป็นการสร้างปัญหาให้กับผู้อื่น

หากดูตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ไม่ได้มีมาตรการป้องกันการจำกัดผลกระทบจากการใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด เป็นเพียงมาตรการปราบปรามเพื่อช่วยในการจัดการกับผู้กระทำผิด ดังนั้น ความสงบของสังคมยังคงเสี่ยงกับการกระทำผิดต่างๆ ต่อไป รวมทั้งการเผยแพร่คลิปส่วนตัวของบุคคลอื่นแล้ว ทำให้เกิดความเสียหาย ฯลฯ ส่วนมากจะทำให้สื่อต่างๆ ขายได้ แต่ผู้ถูกกระทำทางอินเทอร์เน็ตเสียหายรุนแรงยิ่งขึ้น โดยหากผู้ให้บริการดำเนินการทั้ง เจ้าของเว็บไซต์ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ เว็บโฮสติ้ง ระงับข้อมูลนั้นช้าเกินไป ทั้งนี้กรณีที่เว็บไซต์ที่ทำร้ายผู้อื่นอยู่ในต่างประเทศ การปิดกั้นเว็บไซต์หน้าที่เป็นปัญหา แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย จึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการให้บริการอินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ จัดทำ เว็บไซต์ไทยฮอตไลน์ (/www.thaihotline.org) บริการสายด่วน เป็นมาตรการที่ชุมชนผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะช่วยกันดูแล เนื้อหา หรือสิ่งที่อาจเป็นภัยในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยระบบการแจ้งเหตุและการประสานงานเพื่อป้องกันหรือระงับเหตุ ทั้งนี้รูปแบบการดำเนินการในลักษณะเครือข่ายสายด่วนนี้ได้มีการจัดตั้งแล้ว ใน 29 ประเทศ 33 สายด่วน โดยมีศูนย์กลางที่ /www.inhope.org

นางศรีดา ตันทะอธิพานิช หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ไทยออตไลน์ กล่าวถึงตัวเว็บไซต์ไทยฮอตไลน์ว่า เป็นมาตรการที่ชุมชนผู้ใช้บริการ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจะช่วยดูแล เนื้อหา (content) หรือสิ่งที่อาจเป็นภัยในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยระบบการแจ้งเหตุและการประสานงานเพื่อป้องกันหรือระงับเหตุ เป็นต้นว่า การกรองข้อมูลเพื่อขจัดเนื้อหาไม่ดี เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย หรือเป็นภัยต่อสังคม อาทิ การโพสต์รูปโป๊ การทำฟิชชิ่ง หรือข้อมูลภายในองค์กรรั่วไหล โดยยึดหลักตามมาตรฐานสากลและสังคมไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัย

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ไทยออตไลน์ ให้ความเห็นต่อว่า สำหรับขั้นตอนการทำงานแบบไม่เป็นทางการ มีแนวคิดที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยรับแจ้งข่าวจากสมาชิก แล้วมาตรวจสอบดูว่าเรื่องที่แจ้งมานั้นผิดจริงหรือไม่ หากผิดก็จะประสานไปยังผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ที่เป็นสมาชิก หรือเว็บโฮสติ้งต่างๆ เพื่อปิดกั้นเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าดูแล้วไม่ผิด หรือไม่แน่ใจก็จะประสานไปยังไอเอสพี และผู้ดูแลเว็บ เพื่อให้เจ้าของเว็บไซต์รับทราบว่ามีการร้องเรียนมา เพราะการจะให้ไอเอสพี หรือ เว็บโฮสติ้งปิดเว็บไซต์โดยพละการอาจถูกผู้เช่าฟ้องร้องได้ ทั้งนี้หากเมืองไทยมีผู้กำกับดูแลเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตได้ ก็จะช่วยงานในส่วนนี้ได้มาก

“การจัดการเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม โดยหน่วยงานของภาครัฐที่มีจำนวนเพียงหยิบมือ คงไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมออนไลน์ การที่ผู้ใช้ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ร่วมกันสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังแบบนี้ จะช่วยให้ได้หลักฐานมาจัดการคนที่ทำไม่ได้ และกระบวนการก็มีหลายขั้นโปร่งใส ตรวจสอบได้ หากเรามีไทยฮอตไลน์บางที่ กรณี คลิปวิดีโอของศิลปินดารา นักร้องชื่อดังที่ตกเป็นข่าว อาจไม่แพร่กระจายไปในวงกว้างขนาดนี้ เรื่องเหล่านี้จำเป็น ต้อง ปลูกฝังให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเมืองไทย มีจิตสำนึกเพราะถ้าดูเว็บบอร์ดในข่าวแบบนี้ ไม่แต่ลงอีเมล์ขอดู แต่คนที่เห็นใจ หรือเสียใจมีน้อยมาก” นางศรีดา กล่าว

หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ไทยออตไลน์ ให้ความเห็นอีกว่า เรื่องแบบนี้ไม่อยากให้ถึงขั้นที่ภาครัฐออกมาใช้กฎหมายเพื่อเชือดไก่ให้ลิงดู เพราะ คนที่รู้เรื่องกฎหมาย พรบ.คอมฯ ยังน้อยมาก การกระจายข่าวสารยังไม่ทั่วถึงในรายละเอียด ทำให้คนที่เคยชินกับพฤติกรรม หรือ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำความผิดขึ้น แต่การบังคับใช้กฎหมายชัดเจนอาจรุนแรง ดังนั้นเราจึงพยายามระงับเรื่องให้หยุดที่ต้นเหตุ เพื่อไม่ให้เรื่องกระจายออกไปในวงกว้าง ส่วนการทำงานที่เป็นรูปธรรมคงต้องรอความชัดเจนก่อน เชื่อว่าภายในปีนี้คงเริ่มดำเนินการได้

ด้าน นางภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ หนึ่งคณะทำงานของไทยฮอตไลน์ ให้ความเห็นว่า จากที่ผ่านมากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พยายามดำเนินการที่จะปิดกั้นเว็บไซต์ที่มีเนื้อาหไม่เหมาะสม รวมถึงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหมิ่นสถาบันเบื้องสูง การปฏิบัติตาม พรบ.คอมฯ ทำให้เจ้าพนักงานที่หน้าที่สบายใจ และผู้ให้บริการก็สบายใจ เพราะการปิดเว็บไซต์จะต้องขอหมายศาลก่อน ทำให้ลดปัญหาการแอบปิดเว็บไซต์ได้ และเว็บไซต์ฮอตไลน์จะเป็นด่านหน้าในการรับเรื่องไปจัดการ ก่อนที่จะถึงระดับศาล แต่ไม่ได้รวมถึงกรณีเว็บไซต์ที่หมิ่นเบื้องสูง

หนึ่งคณะทำงานของไทยฮอตไลน์ ให้ความเห็นต่อว่า ส่วนตัวอยู่กับกลุ่มคนทำเว็บไซต์ และชมรมเว็บโฮสติ้งไทย และทราบถึงปัญหาเรื่องนี้พอสมควร ได้มีการร่วมมือกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ในการหาทางเพื่อรณรงค์เรื่องนี้แบบจริงจังว่า ไทยฮอตไลน์จะช่วยเตือนเรื่องนี้ก็บรรดาผู้ประกอบการก่อน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องถึงกับขึ้นศาล หรือ เว็บมาสเตอร์ ต้องไปนอนในคุก แต่ในสังคมก็ย่อมมีคนที่ไม่สนใจ โดยถ้าเขาไม่สนใจต่อคำเตือนก็ปล่อยให้เขาถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามเห็นว่าการที่กระทรวงไอซีทีพยายามจัดการกับเว็บหมิ่นฯ ก็เพราะเป็นนโยบาสยที่ดำเนินการมานานแล้ว รวมไปถึงเว็บไซต์ที่มีการหมิ่นประมาททางการเมือง เช่นกัน

นางภูมิจิตร ให้ความเห็นด้วยว่า ขณะนี้ สังคมอินเทอร์เน็ตก็วุ่นวายไม่แพ้กันกับสังคมจริงๆ บางที่การแก้ปัญหาที่น่าจะทำได้ คือ การเอาคนผิดมาลงโทษ เว็บไซต์ไหนมีเนื้อหาหมิ่นประมาทก็ปิดเลย ดูเหมือนเป็นทางออกทีดี แต่การปิดเว็บไซต์ 1 เว็บแล้ว ผุดขึ้นมาใหม่แบบเดียวกันอีก 500 เว็บไซต์ ก็จะทำให้ปัญหานี้ไม่จบสิ้น ทางออกของปัญหามีน้อย บางทีตัวคนทำเว็บไซต์เองต้องเปลี่ยนความคิด เรื่องการสร้างทราฟฟิกเข้าเว็บไซต์มากๆ เพื่อสร้างรายได้จากโฆษณา เพราะถึงจุดนั้นเขาไม่สนใจแล้วว่า เนื้อหา รูปภาพ หรือคลิปต่างๆ ที่อยู่บนเว็บไซต์จะถูกจะผิดอย่างไร ขอให้คนเข้ามาดูมากๆ ก็พอ

จากนี้ไปคงต้องรอการกำเนิดแบบเป็นทางการ ของเว็บไซต์ไทยออตไลน์ ที่จะเข้ามาเป็นช่องทางเพื่อแจ้งเรื่องไม่ดีบนโลกอินเทอร์เน็ต แน่นอนว่าแม้จำนวนเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม คนโพสรูปโป๊ หรือวัยรุ่นคะนองมือพิมพ์ด่าชาวบ้านไปทั่วทุกเว็บ จะมีไม่น้อยแต่เราทุกคนที่มืออยู่บนคีย์บอร์ด และเมาส์ ก็มีส่วนช่วยรับผิดชอบสังคมได้ ไม่ใช่แค่ตัวเราเท่านั้น แต่หมายถึงเด็กและเยาวชนที่จะเข้ามานั่งใช้คอมพิวเตอร์ต่อจากเรา จะได้รับความปลอดภัยมากขึ้นเช่นเดียวกัน...

จุลดิส รัตนคำแปง
/itdigest@thairath.co.th

ที่มา: นสพ. ไทยรัฐ
/http://www.thairath.co.th/news.php?section=technology03a&content=109981

****************************************************************************

วัตถุประสงค์

1. เพื่อสนับสนุนงานป้องกันภัยจากการล่อลวงหรือการหลอกเอาข้อมูลส่วนบุคคล (Phishing / Identity Theft)
2. เพื่อสนับสนุนการทำให้การเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปลอดจากภัยสำคัญหลักๆ ได้แก่
     การหมิ่นประมาท
     สื่อลามกเด็ก
     การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
     สิ่งที่ขัดต่อศีลธรรม
     สิ่งที่เป็นอันตรายต่อสังคม และความมั่นคงของประเทศ
     การหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต (Phishing)
     อีเมล์ขยะ (Spam Mail)
3. เพื่อให้สมาชิกผู้ร่วมโครงการ มีแนวทางปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกันในการจัดการกับภัยสำคัญตามข้อ 2
4. เพื่อเป็นจุดประสานงานกับองค์กรที่ทำงานป้องกันและปราบปรามภัยออนไลน์ต่างๆ ให้มีแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบระเบียบ
5. เพื่อประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงกับบริการสายด่วนภายในประเทศ
6. เพื่อประสานความร่วมมือกับองค์กรในต่างประเทศ และเชื่อมโยงกับเครือข่ายสายด่วนสากล (INHOPE) ได้ในที่สุด

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
/http://www.thaihotline.org/


From Author a ( ta@pinework.com )



Add Your Comment :
Name :
E-mail :
  ย่อหน้า ตัวหนา ตัวยก เส้นใต้ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา ตัวเอียง สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน  
  26589  
 
Message :
Picture(Not More Than 50 k):
  Confirm that not spam
 

 

Back To Comment